21/3/60

>> : สสภ.13 ชลบุรี ขอประชาสัมพันธ์ คืนมือถือเก่า สร้างบุญสร้างชาติ

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการคืนมือถือเก่า       สร้างบุญ สร้างชาติ ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับคืนมือถือจากประชาชนทั่วไปและหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด มอบรายได้ให้แก่มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการคืนมือถือเก่า สร้างบุญ สร้างชาติ และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ๒ ฉบับ ฉบับแรกระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ลงนามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (dtac) บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (true) บริษัท ซัมซุง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โซนี่ไทย จำกัด และบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) และฉบับที่ 2 ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับผู้ประกอบการรับกำจัดของเสีย ได้แก่ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูมิคอร์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท มัตซึดะ ซันเกียว (ประเทศไทย) จำกัด ณ ห้องประชุม ๑ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับคืนมือถือจากประชาชนทั่วไปและหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล และผลตอบแทนที่ได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะได้มอบให้แก่มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบนโยบายในด้านการจัดการของเสีย สรุปได้ว่า
๑) การจัดการมือถือเก่าต้องปฏิบัติตามหลักการขยายความรับผิดของผู้ผลิต ควบคุมกับการจัดการกากของเสียอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
๒) ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการตั้งแต่กำหนดจุดรับคืนซากฯ รวบรวม ขนส่ง และกำจัด ตลอดจนรีไซเคิลซากฯ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าโดยการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการคืนมือถือเก่า สร้างบุญ สร้างชาติ ได้เริ่มต้นตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ผู้ที่ประสงค์ จะคืนมือถือเก่าสามารถนำมือถือคืนได้ตามศูนย์ให้บริการเครือข่ายมือถือที่กำหนด และจุดรับคืนที่มีสัญลักษณ์ข้างต้น



 จากการรวบรวมข้อมูล ปี 2558 จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ มีจำนวน 47 ล้านคน และมีจำนวนหมายเลขที่ลงทะเบียนจำนวน 82.78 ล้านหมายเลข และคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง และอาจเกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงได้
เครื่องโทรศัพท์มือถือประกอบด้วย
1.ตัวเครื่องโทรศัพท์ มีแผงวงจร (โลหะมีค่าและสารอันตรายหลายชนิด ได้แก่ ทองแดง ทองคำ สารหนู พลวง เบอริลเลียม สารหน่วงการติดไฟกลุ่มโบรมีน แคดเมียม  ตะกั่ว นิกเกิล พาลาเดียม เงิน  แทนทาลัง และสังกะสี) จอผนึกเหลว มีส่วนประกอบของผลึกมีหลายชนิด และระดับความเป็นอันตรายต่างกัน ลำโพงและไมโครโฟน มีส่วนประกอบของโลหะหนัก หน้ากากหรือส่วนห่อหุ้มโทรศัพท์ ทำจากพลาสติกที่เป็นโพลีคาร์บอเนต หรือเอบีเอส แผ่นปุ่มกด และตัวนำสัญญาณ
2. เครื่องแปลงแรงดันไฟฟ้าเพื่อใช้อัดไฟแบตเตอรี่มีลวดทองแดงที่มีพลาสติกหุ้ม และส่วนอื่นเช่น ทองคำ แคดเมียม
3. แหล่งพลังงาน (แบตเตอรี่) มีส่วนประกอบของ แคดเมียม นิเกิล ลิเทียม ฯลฯ เมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวถูกทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป สารพิษก็อาจแพร่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ผ่านทางน้ำ อากาศ และพืชหรือสัตว์ที่มนุษย์นำมาเป็นอาหาร และเมื่อมนุษย์ได้รับสารพิษที่อาจเกิดโรคได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคพิษตะกั่ว โรคกระดูกผุ โรคอิไตอิไต (โรคพิษจากแคดเมียม)  และยังอาจส่งผลให้ระบบประสาท ระบบสร้างเม็ดโลหิต การทำงานของไต หรือระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติอีกด้วย





ปัญหาเหล่านี้เราแก้ไขได้ 
1. ไม่ทิ้งแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือรวมไปในขยะมูลฝอยทั่วไป2. คัดแยกทิ้งเครื่องโทรศัพท์และแบตเตอรี่มือถือลงในถังขยะเฉพาะหรือภาชนะที่จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งผู้ร่วมโครงการเป็นผู้รับหน้าที่ในการกำจัด โดยวิธีทำลายพิษ การปรับเสถียรและฝังกลบหรือนำกลับมาใช้ใหม่ Recycle

 


สถานที่ทิ้งเครื่องโทรศัพท์และแบตเตอรี่มือถือ
 
              
ศูนย์บริการของผู้ให้บริการเครือข่ายทุกแห่ง สถานที่รับชำระค่าบริการมือถือ ศูนย์บริการหลังการขายที่เข้าร่วมโครงการหรือถังขยะมูลฝอยมีพิษของทางราชการทุกแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น